- ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐได้ง่ายขึ้น
เนื่องด้วยปัจจุบันปัญหาเศรษฐกิจทวีความรุนแรงขึ้น กล่าวคือประชาชนมีค่าครองชีพที่สูงขึ้นในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้เท่าเดิม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีรายได้ลดลงตามไปด้วย
กทม.ในฐานะผู้ซื้อรายใหญ่จะต้องหันมามุ่งเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งภายในกรุงเทพฯ มีวิสาหกิจชุมชนอยู่ 226 ราย [1] ที่ กทม.สามารถสนับสนุนได้ตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่รัฐต้องการส่งเสริมและสนับสนุน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2563
ดังนั้น กทม.จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมโดยเฉพาะผู้ประกอบการในชุมชนสามารถเข้าถึงรายได้จากการจัดซื้อจัดจ้างของ กทม.และภาครัฐ (สามารถอาศัยข้อได้เปรียบจากการเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตาม กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่รัฐต้องการส่งเสริมและสนับสนุน ฉบับที่ 2) ผ่านกระบวนการดังนี้ (ลักษณะ incubator program)
1. ให้ความรู้ - สำนักงานเขตลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำการลงทะเบียนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกับ สสว. และสมัครใช้งานระบบ e-GP (ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ) ตั้งแต่การสมัคร การนำเสนอราคา การจัดทำสัญญา การส่งมอบงาน และการรับเงิน โดยในพื้นที่ชุมชน สำนักงานเขตสามารถดำเนินการให้ความรู้กับ อาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานการใช้ระบบ e-GP แทนผู้ประกอบการในชุมชนที่ยังขาดความคุ้นเคยกับระบบ
2. ให้ข้อมูล - ในการจัดซื้อจัดจ้างแต่ละครั้ง หาก กทม.และเขตพบว่ามีผู้ประกอบการในพื้นที่มีขีดความสามารถที่จะดำเนินการได้ กทม.จะแจ้งผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้นำเสนอสินค้าเพื่อเข้าร่วมจัดซื้อจัดจ้างเพื่อเป็นการป้องกันการเสียโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่
3. ให้โอกาส – พิจารณาและสนับสนุนให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการเฉพาะเจาะจง กับสินค้าและบริการที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจัดทำขึ้น (ตามกฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 ฉบับที่ 2, หมวด 2 พัสดุส่งเสริมวิสาหกิจและการประกอบอาชีพ [2] ) อย่างไรก็ดีราคาที่จะซื้อจัดจ้างจะต้องสมเหตุสมผลและไม่สูงกว่าราคาตลาด